(Last Updated On: 21/07/2021)
ต่อมลูกหมาก คือ

คำว่า ต่อมลูกหมาก คงเป็นอะไรที่เพื่อน ๆ ได้ยินกันมานานมากแล้วใช่มั้ยครับ แต่น้อยคนนักจะให้ความสนใจว่ามันคืออะไร มีหน้าที่ยังไงและทำไมถึงต้องมี โดยวันนี้เราจะมาพูดคุยถึงเรื่องของ ต่อมลูกหมากโต กันแบบเจาะลึกให้หายสงสัยในทุกเรื่องกันเอง

ต่อมลูกหมาก คืออะไร

ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของผู้ชายเรา ซึ่งจะอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ และล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น ซึ่งจะมีลักษณะเป็นต่อม เอาไว้ทำหน้าที่สร้างของเหลวสีขาวที่เป็นส่วนหนึ่งของน้ำอสุจินั่นเอง โดยมันจะมีกลิ่นเฉพาะตัว สารที่หลั่งออกมาจะเป็นเบสอ่อน ๆ ซึ่งเป็นสภาพที่อสุจิชอบ เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้อสุจิแข็งแรงและว่องไวขึ้นนั่นเอง

โรคต่อมลูกหมากโต

ต่อมลูกหมากโต ฝันร้ายของผู้ชายทุกคน

ต่อมลูกหมากโต นับเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่ผู้ชายทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเจอได้ ซึ่งมันจะเข้ามาเยือนก็ต่อเมื่ออายุของเรามากขึ้น ทำให้สุขภาพต่าง ๆ ย่ำแย่ลง ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต โดยอาการต่อมลูกหมากโตนั้นก็คือ การที่ต่อมลูกหมากของเรามีขนาดใหญ่กว่าปกติ และไปบีบท่อปัสสาวะให้แคบลง ทำให้มีอาการปัสสาวะติด ๆ ขัด ๆ ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่คนด้วยนะครับ บางคนเป็นเยอะบางคนเป็นน้อย บางคนแค่ปัสสาวะได้เบา แต่บางคนอาจถึงขั้นปัสสาวะไม่ออกเลยก็มีเหมือนกัน

เสี่ยง ต่อมลูกหมากโต

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อต่อมลูกหมากโต

ต้องบอกเลยนะครับว่าผู้ชายที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ต่อมลูกหมากจะหยุดการเจริญเติบโต และเมื่อถึงอายุ 45 ปี ก็จะเพิ่มขนาดขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งนี่แหละที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด ปัญหาต่อมลูกหมากโต ทำให้โรคนี้ถูกเรียกว่าโรคชรา เพราะมักจะเกิดในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉลี่ยแล้วจะพบอาการนี้ 20% ในผู้ชายที่อายุ 45 ปีขึ้นไป 50% ในผู้ชายอายุ 60 ปี และเมื่ออายุ 80-90 ก็จะเป็นโรคนี้กันทุกคน

ต่อมลูกหมากโต

ต่อมลูกหมากโต เกิดขึ้นได้อย่างไร

จะเรียกได้ว่าเป็นโรคลึกลับก็ไม่แปลกเลยนะครับ เพราะทุกวันนี้ที่วิทยาการทางการแพทย์ก้าวล้ำนำหน้าไปไกล แต่เค้าก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่า โรคต่อมลูกหมากโต เกิดขึ้นได้อย่างไร มีแต่ความเชื่อที่ว่า มันเกิดขึ้นจากฮอร์โมนตัวหนึ่งที่ชื่อ “ไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน” DHT ที่ทำให้ต่อมลูกหมากโตขึ้น

บางที่ยังมีการสันนิษฐานอีกด้วยนะว่า ต่อมลูกหมากโต นั้นเกิดจากกรรมพันธุ์ ซึ่งถ้าคุณพ่อเคยมีปัญหาเกี่ยวกับอาการต่อมลูกหมากโตมาก่อน ในรุ่นลูกก็มีโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติของอัณฑะ และเกิดเป็น ต่อมลูกหมากโต สูงขึ้น

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่โรคต่อมลูกหมากโตได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ออกกำลังกาย รวมถึงโรคอ้วนด้วย

ตรวจ ต่อมลูกหมากโต

ตรวจต่อมลูกหมากโตด้วยตัวเองง่าย ๆ ก่อนไปพบแพทย์

การตรวจสอบหรือดูว่าตัวเองมีสิทธิ์เข้าข่ายการเป็นต่อมลูกหมากโตมั้ยนั้น สามารถทำได้โดยการดูที่ปัสสาวะของเราเลยครับ ถ้าพบว่าปัสสาวะบ่อย หรือเกิดเจ็บเวลาปัสสาวะ และบางครั้งก็มีเลือดออกมาด้วย หรือมีอาการปัสสาวะไหลช้า ไหล ๆ หยุด ๆ ต้องเบ่งบ้าง รอนานบ้างกว่าจะปัสสาวะออกมาได้

ซึ่งอาการของโรคต่อมลูกหมากโตส่วนมากแล้วจะส่งผลเห็นได้ชัดกับการปัสสาวะของเราเนี่ยแหละครับ เพราะต่อมลูกหมากจะไปกดท่อปัสสาวะ แต่เพราะอาการกับโรคนั้นบางทีอาจไม่สอดคล้องกัน บางคนต่อมลูกหมากโตมาก แต่มีอาการนิดเดียว ทำให้โรคต่อมลูกหมากโตนี้น่ากลัว และผู้ชายส่วนมากละเลยกันไปด้วยเหตุผลนี้นี่แหละ

และนี่ก็เป็นเช็คลิสต์ง่าย ๆ สำหรับคนที่อยากจะรู้ว่าตัวเองมีอาการของโรคต่อมลูกหมากโตหรือเปล่า

  • ปัสสาวะอ่อน เป็นหยด ต้องเบ่ง
  • ปัสสาวะไม่ออกในทันที ต้องใช้เวลานานในการถ่ายปัสสาวะ
  • มีความรู้สึกเหมือนปัสสาวะไม่สุด
  • รู้สึกปวด ต้องปัสสาวะทันที กลั้นไม่ได้
  • มีอาการเจ็บปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ
  • มีเลือดปนเวลาปัสสาวะ

อาการเหล่านี้ก็แสดงว่ามีโอกาสที่จะเป็นโรคต่อมลูกหมากโตสูงเลยล่ะครับ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

สาเหตุ ต่อมลูกหมากโต

แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุด้วยวิธีใดบ้าง

สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่เช็กตัวเองแล้วรู้สึกว่าเข้าเค้าจะเกิดเป็นอาการต่อมลูกหมากโตก็ให้ไปพบแพทย์ได้เลยทันที ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักถามประวัติก่อนในขั้นแรกว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง มีอาการอย่างไร และเน้นตรวจสุขภาพในเรื่องของทางเดินปัสสาวะ ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ซึ่งวิธีที่แพทย์ใช้ก็มีดังนี้

1. ตรวจทางทวารหนัก

ตรวจโดยการสอดนิ้วเข้าไปทางทวารหนักเพื่อดูขนาดและความผิดปกติของต่อมลูกหมาก เพื่อดูว่าเบื้องต้นนี้มีอาการอยู่จริงหรือเปล่า ซึ่งวิธีนี้ไม่สามารถวัดความรุนแรงของโรคได้

2. ตรวจปัสสาวะ

จะช่วยบอกได้ว่าเรามีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่

3. ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก

เป็นการตรวจเพื่อยืนยันว่าเป็นโรคต่อมลูกหมากโตจริง หรือเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะทั้ง 2 โรคนี้มีอาการที่คล้ายคลึงกันมาก

4. ตรวจค่าครีเอทินินในเลือด

เป็นการตรวจดูการทำงานของไตว่าทำงานได้ดีอยู่หรือเปล่า ซึ่งนี่คือขั้นตอนหลักในการตรวจเช็คอาการ ต่อมลูกหมากโต แต่แพทย์อาจจะมีการตรวจสอบอื่น ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ได้เช่นกัน ดังนี้

  • ตรวจปริมาณปัสสาวะที่คงค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะหลังจากที่ถ่ายเสร็จแล้ว
  • ตรวจการไหลของปัสสาวะ วัดความแรง และปริมาณการไหล
  • บันทึกการปัสสาวะใน 24 ชั่วโมง ทั้งความถี่ และปริมาณ เพื่อให้รู้ถึงระบบการทำงานของปัสสาวะต่อวัน

นอกจากนี้ก็จะมีการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าจะเป็นต่อมลูกหมากโตจริงมั้ย ทั้งการอัลตร้าซาวด์เพื่อดูต่อมลูกหมากและกระเพาะปัสสาวะเลยทันที โดยทำผ่านทางทวารหนัก มีการตรวจยูโรพลศาสตร์ เพื่อดูว่าทางเดินปัสสาวะถูกอุดมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งยังมีการถ่ายภาพรังสีทางเดินปัสสาวะ และตรวจส่องกล้องเพื่อดูต่อมลูกหมากอีกด้วย โดยการตรวจแบบนี้จะทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน เพราะเห็นภาพกันชัด ๆ ไปเลยว่าต่อมลูกหมากมีขนาดโตผิดปกติหรือไม่

โรคแทรกซ้อนจากต่อมลูกหมากโต

โรคแทรกซ้อนจากอาการต่อมลูกหมากโต

เรื่องน่ากลัวอย่างหนึ่งของร่างกายคนเราก็คือ การที่โรคแค่เพียงโรคเดียวสามารถส่งผลลุกลามไปถึงโรคอื่น ๆ ได้นี่แหละครับ ซึ่งสำหรับโรค ต่อมลูกหมากโต นั้นก็ต้องทำการตรวจหาโรคแทรกซ้อนเช่นกัน เพราะต่อมลูกหมากโตจะทำให้การถ่ายปัสสาวะของเรามันออกมาไม่หมด เหลืออยู่ในกระเพาะปัสสาวะ

ซึ่งโดยปกติแล้วกระเพาะปัสสาวะจะสามารถเก็บปัสสาวะได้ 400-500 มิลลิลิตร และถ้าเราปัสสาวะออกไปไม่หมด ก็จะมีการตกตะกอนเกิดขึ้น ซึ่งตะกอนตรงนี้แหละที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยการติดเชื้อครั้งนี้อาจลุกลามไปจนถึงการทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบได้เลย เนื่องจากปัสสาวะไม่ออก

ยังไม่หมดเท่านี้นะครับ เพราะอาการต่อมลูกหมากโตยังอาจส่งผลกระทบต่อท่อไต และไตบวม จากการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ แถมยังทำให้ผนังกระเพาะปัสสาวะหย่อนยาน หรือเป็นถุงโป่งพอง และเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้

เรียกได้ว่ามีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้เยอะมากเลยนะจากอาการต่อมลูกหมากโตนี้ ดังนั้นเมื่อเช็คอาการเรียบร้อยแล้ว ควรจะไปปรึกษาแพทย์ดีที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นอาจถึงขั้นทำให้คุณภาพชีวิตตกต่ำเลยก็ว่าได้

ต่อมลูกหมากโต สมรรถภาพทางเพศ

ต่อมลูกหมากโต ส่งผลสมรรถภาพทางเพศหรือเปล่า

และที่สำคัญเลยนะครับ สำหรับใครที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตแล้วกลัวว่าจะส่งผลเสียต่อสมรรถภาพทางเพศหรือเปล่า อันนี้บอกก่อนว่าไม่เกี่ยวนะ เพราะทางการแพทย์เค้าได้ยืนยันกันมาแล้วว่า อาการต่อมลูกหมากโตนั้นยังไม่มีการค้นพบว่าส่งผลเสียต่อสมรรถภาพทางเพศแต่อย่างใด และไม่พบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด มะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยนะ ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้ง 2 โรคนี้สามารถเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันได้ และมีอาการที่ใกล้เคียงกัน แต่ถ้าถามว่าเป็นโรคนี้แล้วจะเป็นอีกโรคหนึ่งตามมามั้ย อันนี้ไม่ใช่ครับ

วิธีรักษาและป้องกันเมื่อเป็นโรคต่อมลูกหมากโต

สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่ทำการตรวจเรียบร้อย และพบว่าตัวเองมีอาการเป็นโรค ต่อมลูกหมากโต นั้น ก็มีการรักษาอยู่หลายระดับด้วยกัน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องดูอีกทีนะครับว่าเราเป็นร้ายแรงขนาดไหน มีอาการมากน้อยอย่างไร ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมก็คือ งดดื่มของเหลวหรือแอลกอฮอล์ คืออย่ากินมากไป อันนี้คือเบื้องต้นของการรักษา

ส่วนใครที่มีอาการรุนแรงขึ้นมาหน่อย แพทย์ก็จะให้กินยาลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่บีบรัดท่อปัสสาวะ หรือก็คือ ยาลดขนาด ต่อมลูกหมาก ซึ่งบางทีอาจจะมียาสมุนไพรที่สกัดขึ้นเพื่อลดอาการบวมโดยเฉพาะด้วยก็ได้ ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยและจัดยาให้กับเราตามความเหมาะสม และสิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ การทานยาให้ตรงเวลาก่อนเข้านอน เพื่อไม่ให้เกิดการปวดปัสสาวะตอนกลางคืนระหว่างที่นอนหลับนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยความร้อนเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งก็คือ การใช้ความร้อนกับเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมาก เช่น ไมโครเวฟ คลื่นวิทยุ หรือเลเซอร์ เพื่อทำให้ต่อมลูกหมากฝ่อและเล็กลง เป็นการรักษาอีกหนึ่งวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ควรได้รับการผ่าตัด

ผ่าตัด ต่อมลูกหมากโต

การผ่าตัดกับต่อมลูกหมากโต

ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนใช้ยาแล้วทุกชนิดและยังไม่ได้ผล หรือเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ขึ้นตามมา ขั้นตอนสุดท้ายที่จะช่วยเราได้ก็คือ การรักษาด้วยการผ่าตัดนั่นเอง ซึ่งวิธีนี้แพทย์จะตัดสินใจใช้ก็ต่อเมื่ออาการของเรารุนแรงเท่านั้น หรือมีปัญหาทางเดินปัสสาวะติดขัด เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นเลือด

ซึ่งก็จะมีบางคนเหมือนกันนะครับที่จะไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ เช่น คนที่มีอาการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ มีอาการท่อปัสสาวะตีบ รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาต่อมลูกหมากด้วยรังสี หรือคนที่เคยผ่าตัดทางเดินปัสสาวะมาแล้ว และคนที่ป่วยโรคเกี่ยวกับประสาท หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นต้น

โดยการผ่าตัดตรงนี้ก็จะมีด้วยกันหลายวิธีเลย แต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุดก็คือ การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องนี่แหละ ซึ่งแพทย์จะผ่าตัดส่งท่อที่มีขนาดเล็ก ผ่านเข้าสู่ท่อปัสสาวะ ตรงปลายท่อจะมีเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็ก ใช้ในการตัดเนื้อเยื่อ ต่อมลูกหมาก ที่เป็นตัวการกดทับท่อปัสสาวะของเรา

สำหรับใครที่มีอาการหนักหรือต่อมลูกหมากใหญ่มากกว่าปกติเยอะ แพทย์อาจจะต้องใช้วิธีการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องเพื่อเอาเนื้อเยื่อส่วนเกินออก

รักษา ต่อมลูกหมากโต

แนวทางการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากอาการต่อมลูกหมากโต

ส่วนใหญ่แล้ว โรคต่อมลูกหมากโตนี้จะไม่มีการหายขาดนะครับ เพราะการผ่าตัดคุณหมอเค้าก็ไม่ได้ตัดต่อมลูกหมากเราทิ้ง เค้าแค่เอาเนื้องอกออกไปเท่านั้น และมันก็สามารถกลับมาอีกครั้งได้ ซึ่งการรักษาที่ถูกต้องจริง ๆ ก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเองตั้งแต่แรกนี่แหละ ถึงจะมีส่วนช่วยให้ห่างไกลจากโรคต่อมลูกหมากโตได้มากที่สุด โดยแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นก็มีดังนี้

  1. ไม่กลั้นปัสสาวะ – เมื่อปวดปัสสาวะเมื่อไหร่ ให้รีบเข้าห้องน้ำทันที เพราะการกลั้นปัสสาวะจะทำให้เกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้ อีกทั้งยังเป็นตัวการที่ทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเกิดความเสียหาย และเกิดปัญหาต่อมลูกหมากโตได้
  2. ไม่ดื่มน้ำก่อนนอน – ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนเข้านอน 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายขับปัสสาวะออกให้หมด และกลางคืนจะได้นอนหลับอย่างสนิท ไม่ลุกมาเข้าห้องน้ำบ่อย
  3. ฝึกตัวเองให้เข้าห้องน้ำทุก 4-6 ชั่วโมง – การฝึกตัวเองแบบนี้จะทำให้น้ำในกระเพาะปัสสาวะของเราไม่เยอะมากเกินไป และหมดปัญหาการเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ที่อาจจะตามมา
  4. งดดื่มแอลกอฮอล์ – การดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ร่างกายขับปัสสาวะออกมามาก ดังนั้นการงดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือลดปริมาณการดื่มลงก็จะช่วยให้กระเพาะปัสสาวะทำงานเบาลงได้
  5. ออกกำลังกายเป็นประจำ – มีการวิจัยพบว่า การออกกำลังกายด้วยการเดินวันละ 30-60 นาที จะช่วยให้อาการต่อมลูกหมากโตดีขึ้นได้มากกว่าเดิมเลยล่ะ
  6. ไม่ทานยาลดน้ำมูก หรือยาแก้แพ้ – ยาทั้ง 2 ตัวนี้จะทำให้ปัสสาวะของเราลำบากขึ้น เพราะมันจะเข้าไปทำให้กล้ามเนื้อบริเวณท่อปัสสาวะที่ควบคุมการไหลของปัสสาวะหดตัวลง ซึ่งถ้าจะทานจริง ๆ ก็แนะนำให้ทำการปรึกษากับแพทย์ก่อนถึงจะดีที่สุด
  7. ทานอาหารที่มีประโยชน์ – การทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยให้เราควบคุมน้ำหนักได้ง่ายขึ้น หมดปัญหาโรคอ้วน ซึ่งเป็นตัวการหลักที่เกี่ยวข้องกับโรคต่อมลูกหมากโต
  8. ไม่ขี่จักรยานนาน ๆ – กิจกรรมที่ทำให้ส่งผลกระทบต่อต่อมลูกหมากนี้ควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด เพราะจะทำให้ปัสสาวะออกยาก และอาจมีอาการอื่น ๆ ตามมา
  9. มี SEX บ่อยช่วยได้ – ไม่ว่าจะเป็นการช่วยตัวเอง หรือการมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม ถ้าเราสามารถขับหลั่งน้ำอสุจิออกมาได้ ก็จะช่วยลดอาการต่อมลูกหมากโตไปอย่างได้ผล

เห็นมั้ยครับว่าถึงแม้โรคต่อมลูกหมากโต นั้นจะดูร้ายแรง และเป็นฝันร้ายของคุณผู้ชายมากขนาดไหน อย่างไรมันก็ยังคงมีวิธีป้องกันหรือบรรเทาอาการมันไปได้อยู่ดี เพราะถึงทุกวันนี้วงการแพทย์จะยังไม่สามารถหาวิธียับยั้งอาการต่อมลูกหมากโตได้อย่างเห็นผล แต่การที่เราดูแลตัวเองอยู่เป็นประจำ และปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีเพศสัมพันธ์ ใช้งานน้องชายบ่อย ๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ไปได้มากเลยทีเดียว

แต่สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่มีอาการดังกล่าวแล้วหวังจะมาดูแลตัวเอง อันนี้ขอบอกว่าไปหาหมอให้เรียบร้อยก่อนนะครับ เพราะบางทีเราอาจจะไม่ได้เป็น ต่อมลูกหมากโต แต่อาจมีอาการของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ เพราะทั้ง 2 โรคนี้มีอาการที่คล้ายกันสุด ๆ ดังนั้นทางที่ดีเข้าพบแพทย์ก่อน แล้วค่อยกลับมาดูแลตัวเองก็ยังไม่สาย